Welcome ^_^
sample

 

โรคไตวายเรื้อรัง

บทบาทและหน้าที่ของไต

ไตเป็นอวัยวะสำคัญส่วนหนึ่งของระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งประกอบด้วย ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ ไตเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกายเช่นเดียวกับอวัยวะสำคัญอื่นๆ เช่น หัวใจ ตับ ปอด กระเพาะอาหาร สมอง ซึ่งอวัยวะต่างๆ เหล่านี้ ต่างก็ทำหน้าที่เฉพาะส่วน แต่มีการประสานงานกันเป็นอย่างดี จึงทำให้ร่างกายเป็นปกติสุขอยู่ได้ หากอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งเสีย หรือถูกทำลาย ก็จะมีผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะอื่นได้

ไตมีลักษณะคล้ายเมล็ดถั่วแดง อยู่ที่บริเวณบั้นเอวทั้ง ๒ ข้าง ใต้กระดูกซี่โครง และอยู่ ๒ ข้างของกระดูกสันหลัง มีสีแดง เหมือนไตหมูสดๆ มีความยาวโดยวัดเส้นผ่าศูนย์กลางตามความยาวได้ประมาณ ๑๑-๑๒ เซนติเมตร และหนักข้างละ ๑๕๐ กรัม ไตแต่ละข้างได้รับเลือดผ่านทางหลอดเลือดแดงใหญ่ ซึ่งออกจากหัวใจ เมื่อเลือดไหลผ่านไตจะมีการกรองผ่านหน่วยไตเล็กๆ ที่เรียกว่า เนฟรอน (Nephron) ซึ่งมีอยู่ข้างละ ๑ ล้านหน่วย หน่วยไตเล็กๆ เหล่านี้ทำหน้าที่กรองของเสียจากเลือดผ่านทางท่อไต และเกิดเป็นน้ำปัสสาวะขับออกจากร่างกายทางท่อปัสสาวะ ร่างกายสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยไตที่ปกติเพียง ๑ ข้าง เพราะมีการปรับสมดุลได้ดีมาก ดังนั้นผู้ที่บริจาคไต ๑ ข้างจึงสามารถมีชีวิตที่ปกติด้วยไตที่เหลือเพียงข้างเดียวได้

หน้าที่ของไตมีหลายอย่าง ได้แก่
การปรับสมดุลน้ำในร่างกาย
การปรับสมดุลของสารเกลือแร่และกรด-ด่างในร่างกาย
การกำจัดของเสียออกจากร่างกาย
การผลิตฮอร์โมนหลายชนิดในร่างกาย
ภาวะไตวาย หมายถึง ภาวะที่เนื้อไตทั้ง ๒ ข้างถูกทำลายจนทำงานไม่ได้หรือได้น้อยกว่าปกติ ทำให้น้ำและของเสียไม่ถูกขับออกมา จึงเกิดการคั่งจนเป็นพิษต่อร่างกาย นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดผลกระทบต่อดุลของสารเกลือแร่ (อิเล็กโทรไลต์) และความเป็นกรดด่างในเลือด รวมทั้งเกิดภาวะพร่องฮอร์โมนบางชนิดที่ไตสร้าง การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้นำไปสู่ความผิดปกติของอวัยวะแทบทุกส่วนของร่างกาย
ภาวะไตวายสามารถแบ่งเป็น ไตวายเฉียบพลัน (ซึ่งมีอาการเกิดขึ้นฉับพลัน และเป็นอยู่นานเป็นวันหรือเป็นสัปดาห์) กับ ไตวายเรื้อรัง (ค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อย นานเป็นแรมเดือนแรมปี)
ในที่นี้ขอกล่าวถึง ไตวายเรื้อรัง เป็นการเฉพาะ

สาเหตุ
ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน และความดันโลหิตสูงที่ขาดการรักษาอย่างจริงจัง อาจเกิดจากโรคไตเรื้อรัง ที่สำคัญได้แก่ กรวยไตอักเสบเรื้อรัง (ซึ่งมักไม่แสดงอาการ) นิ่วในไต โรคถุงน้ำไตชนิดหลายถุง (polycystic kidney ซึ่งมีความผิดปกติมาแต่กำเนิด และถ่ายทอดทางพันธุกรรม)
ผู้ที่ใช้ยาแก้ปวด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พาราเซตามอล และกลุ่มยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนก) ที่ใช้รักษาอาการปวดข้อ โดยใช้ติดต่อกันทุกวันนานเป็นแรมปี ก็อาจเกิดภาวะไตวายเรื้อรังตามมาได้
นอกจากนี้ ยังอาจพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่นๆ เช่น โรคเกาต์ โรคเอสแอลอี ต่อมลูกหมากโต ภาวะยูริกในเลือดสูง ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง พิษจากสารตะกั่วหรือแคดเมียม เป็นต้น

อาการ
อาการขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค โดยในระยะแรกอาจไม่มีอาการให้สังเกตได้ชัดเจน และมักจะตรวจพบจากการตรวจเลือด (พบว่ามีระดับครีอะทินีนและบียูเอ็นสูง) ในขณะตรวจเช็กสุขภาพหรือมาพบแพทย์ด้วยโรคอื่น
ผู้ป่วยจะมีอาการชัดเจนเมื่อเนื้อไตทั้ง ๒ ข้างถูกทำลายจนทำหน้าที่ได้น้อยกว่าร้อยละ ๑๕ ของไตปกติ โดยจะสังเกตว่ามีปัสสาวะออกมาก และปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ท้องเดินบ่อย นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ขาดสมาธิ ตามัว ผิวหนังแห้งและมีสีคล้ำ คันตามผิวหนัง ชาตามปลายมือปลายเท้า
บางรายอาจมีอาการหอบเหนื่อย สะอึก เป็นตะคริว ใจหวิว ใจสั่น เจ็บหน้าอก บวม หรือมีเลือดออกตามผิวหนังเป็นจุดแดงจ้ำเขียว หรืออาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด
เมื่อเป็นมากขึ้น จะมีอาการปัสสาวะออกน้อย
เมื่อเป็นถึงขั้นสุดท้าย ผู้ป่วยจะมีอาการซึม ชัก หมดสติ

การป้องกันตนในประชาชนทั่วไปเพื่อห่างไกลโรคไต

๑.ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
๒.ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูง
๓.ในกลุ่มคนที่เริ่มมีไตเสื่อม ต้องควบคุมอาหารประเภทโปรตีน เกลือและโคเลสเตอรอล
๔.หยุดสูบบุหรี่
๕.ห้ามใช้ยาเกินขนาด หรือยาที่มีพิษต่อไต เช่น ยาแก้ปวดข้อ คลายเส้น ฯลฯ
๖.รักษาเรื่องโลหิตจางที่เกิดจากโรคไต
๗.หลีกเลี่ยงอาหารประเภทถั่วในคนที่มีระดับฟอสเฟตในเลือดสูง หรือผลไม้บางชนิดในคนที่มีระดับโปแตสเซียมในเลือดสูง เช่น ขนุน ลำไย ทุเรียน
๘.ป้องกันไม่ให้ทางเดินปัสสาวะติดเชื้ออักเสบบ่อยๆ
๙.ใช้ยาขับปัสสาวะเท่าที่จำเป็น และต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เสมอ
๑๐.ออกกำลังกายที่เหมาะสมกับร่างกายอย่างสม่ำเสมอ

การดูแลตนเองในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง
ผู้ป่วยที่เป็นไตวายเรื้อรัง ควรติดตามการรักษากับแพทย์อย่าได้ขาด ควรกินยาและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรปรับขนาดยาเอง หรือซื้อยากินเอง เพราะยาบางอย่างอาจมีพิษต่อไตได้
นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัว ดังต่อไปนี้
• จำกัดปริมาณโปรตีนที่กินไม่เกินวันละ ๔๐ กรัม โดยลดปริมาณของ ไข่ นม และเนื้อสัตว์ลง (ไข่ไก่ ๑ ฟอง มีโปรตีน ๖-๘ กรัม นมสด ๑ ถ้วยมีโปรตีน ๘ กรัม เนื้อสัตว์ ๑ ขีด มีโปรตีน ๒๓ กรัม) และกินข้าว เมล็ดธัญพืช ผักและผลไม้ให้มากขึ้น
• จำกัดปริมาณน้ำที่ดื่ม โดยคำนวณจากปริมาณปัสสาวะต่อวันบวกกับน้ำที่เสียไปทางอื่น (ประมาณ ๘๐๐ มล./วัน) เช่น ถ้าผู้ป่วยมีปัสสาวะ ๖๐๐ มล./วัน น้ำที่ควรได้รับเท่ากับ ๖๐๐ มล. + ๘๐๐ มล. (รวมเป็น ๑,๔๐๐ มล./วัน)
• จำกัดปริมาณโซเดียมที่กิน ถ้ามีอาการบวมหรือมีปัสสาวะน้อยกว่า ๘๐๐ มล./วัน ควรงดอาหารเค็ม งดใช้เครื่องปรุง (เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสทุกชนิด) ผงชูรส สารกันบูด อาหารที่ใส่ผงฟู (เช่น ขนมปังสาลี) อาหารกระป๋อง น้ำพริก กะปิ ปลาร้า ของดอง หนำเลี๊ยบ)
• จำกัดปริมาณโพแทสเซียมที่กิน ถ้ามีปัสสาวะน้อยกว่า ๘๐๐ มล./วัน ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น ผลไม้แห้ง กล้วย ส้ม มะละกอ มะขาม มะเขือเทศ น้ำมะพร้าว ถั่ว สะตอ มันทอด หอย เครื่องในสัตว์ เป็นต้น
• ผู้ป่วยไตวายระยะท้ายที่ได้รับการรักษาด้วยการล้างไตโดยการฟอกเลือด (hemodialysis) การล้างไตทางช่องท้อง (continuous ambulatory peritoneal dialysis/CAPD) หรือการปลูกถ่ายไต ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

ขอบคุณ ที่มาจาก
https://www.doctor.or.th/article/detail/11952
http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=36&chap=9&page=t36-9-infodetail01.html

 

รวมลิงค์ที่น่าสนใจ

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

www.sasukphurua.com